เข้าใจ ESG ให้ดียิ่งขึ้น คำศัพท์ที่ควรเข้าใจในโลกธุรกิจยั่งยืน | Optiwise
Article
26 กันยายน 2567

เข้าใจ ESG ให้ดียิ่งขึ้น คำศัพท์ที่ควรเข้าใจในโลกธุรกิจยั่งยืน

เข้าใจ ESG ให้ดียิ่งขึ้น คำศัพท์ที่ควรเข้าใจในโลกธุรกิจยั่งยืน

ปัจจุบัน ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตในหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 เหตุการณ์น้ำท่วมหนัก พายุและมรสุมที่นำไปสู่ภาวะน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับความเสียหายรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตประจำวัน บ้านเรือน และทรัพย์สิน

ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคม (Social) และการกำกับดูแลและบริหารจัดการขององค์กร (Governance) เป็นลูกโซ่ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ผลักดันให้องค์กรและธุรกิจต้องปรับตัว สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ และมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพราะหากไม่ปรับตัว โลกอาจตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษและภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถรองรับคนรุ่นต่อไปได้

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนจึงเกิดขึ้น เพื่อให้โลกสามารถดำรงอยู่และก้าวต่อไปในอนาคตได้ หนึ่งในกรอบการประเมินสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนแนวคิดนี้คือ ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม), และ Governance (การกำกับดูแลกิจการ) กรอบนี้ช่วยให้องค์กรสามารถวัดและประเมินผลการดำเนินงานในมิติที่สำคัญเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

การให้ความสำคัญกับ ESG ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้องค์กร และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในองค์กร

ทั้งนี้ ยังมีคำศัพท์อื่น ๆ นอกจากคำว่า ESG คืออะไร ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจและควรความคุ้นเคย เพื่อให้เข้าใจบริบทของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นกับทุกส่วนของโลกอยู่ในปัจจุบัน เช่น

Climate Change

Climate Change หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระยะยาว เช่น อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และรูปแบบลม ที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคหรือทั่วโลก โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษหรือนานกว่านั้น ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ซึ่งเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ก๊าซเรือนกระจกสะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้น

สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ก๊าซเรือนกระจก เช่น CO2 ทำหน้าที่เสมือนผ้าห่มห่อหุ้มโลก โดยดูดซับความร้อนบางส่วนที่โลกแผ่รังสีออกมาหลังจากได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้ชั้นบรรยากาศล่างอุ่นขึ้น

ปัจจุบัน ปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ซึ่งสูงกว่าระดับที่เคยเป็นมาในช่วงล้านปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า Climate Change เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ผลกระทบต่อมนุษย์ ได้แก่ ความเสี่ยงจากน้ำท่วม คลื่นความร้อน การขาดแคลนอาหารและน้ำ โรคระบาดที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจ การอพยพย้ายถิ่น และความขัดแย้งทางสังคม นอกจากนี้ ผลกระทบต่อระบบนิเวศก็มีความรุนแรงเช่นกัน เช่น สัตว์และพืชบางชนิดต้องย้ายถิ่นฐานหรือสูญพันธุ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขา แนวปะการัง และขั้วโลก

Greenhouse Gas (GHG)

Greenhouse Gas หมายถึงก๊าซเรือนกระจกที่มีคุณสมบัติในการดูดซับรังสีความร้อน (อินฟราเรด) ที่แผ่ออกมาจากพื้นผิวโลก และปล่อยความร้อนกลับมายังโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญได้แก่:

  • คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2): เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม เป็นก๊าซหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
  • มีเทน (CH4): เกิดจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ การเลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกข้าว และการทำเหมืองถ่านหิน เป็นก๊าซที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูง
  • ไนตรัสออกไซด์ (N2O): เกิดจากกิจกรรมการเกษตร เช่น การใช้ปุ๋ย การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการบำบัดน้ำเสีย
  • ก๊าซฟลูออรีน: เป็นก๊าซที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรม เช่น ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ แม้จะถูกปล่อยในปริมาณน้อย แต่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงมาก
ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และระบบนิเวศ เพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกและรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศ

Net Zero

Net Zero หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ โดยทำให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมากับปริมาณที่ถูกดูดซับกลับเข้าสู่ธรรมชาติ วิธีการนี้ประกอบด้วยการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการดูดซับก๊าซเหล่านั้นให้มีปริมาณเท่ากัน เพื่อสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของโลก

สาระสำคัญของ Net Zero คือการทำให้เกิดสมดุลระหว่างปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกหลัก กับปริมาณที่ถูกดูดซับ กักเก็บ หรือชดเชยจากกิจกรรมของมนุษย์ เป้าหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุสู่สภาวะ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ซึ่งหมายถึงการที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์มีความสมดุลกับการลดและชดเชยก๊าซเหล่านั้นในชั้นบรรยากาศของโลก

Carbon Neutrality

Carbon Neutrality หมายถึงการทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีค่าเท่ากับปริมาณที่ถูกดูดซับกลับคืนมา ผ่านกระบวนการทางธรรมชาติหรือเทคโนโลยีที่มนุษย์พัฒนาขึ้น ความสำคัญของ Carbon Neutrality มุ่งเน้นไปที่การจัดการกับ CO2 เป็นหลัก โดยไม่ได้ครอบคลุมถึงก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เหมือนกับ Net Zero

การบรรลุ Carbon Neutrality สามารถทำได้โดยการลดการปล่อย CO2, เพิ่มการดูดซับ CO2 ผ่านการปลูกป่า หรือใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน นอกจากนี้ การชดเชยคาร์บอนผ่านกลไก คาร์บอนเครดิต ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้องค์กรหรือประเทศบรรลุเป้าหมายนี้ได้

Renewable Energy

Renewable Energy หรือพลังงานหมุนเวียน หมายถึงพลังงานที่ได้จากแหล่งธรรมชาติซึ่งสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้อย่างรวดเร็วภายในช่วงอายุของมนุษย์ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ และชีวมวล พลังงานหมุนเวียนมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

พลังงานหมุนเวียนยังมีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลที่มีปริมาณจำกัดและเป็นต้นเหตุของมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนยังช่วยสร้างงานใหม่และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียนมักจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว

Biodiversity

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) คือความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในโลก ซึ่งรวมถึงพืช สัตว์ จุลินทรีย์ และระบบนิเวศที่สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัย ประกอบด้วยสามระดับหลัก ได้แก่ ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversity), ความหลากหลายระหว่างชนิดพันธุ์ (Species Diversity), และความหลากหลายระหว่างระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)

ความหลากหลายทางชีวภาพมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ โดยช่วยให้ระบบนิเวศสามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดีขึ้น เมื่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตลดลง ระบบนิเวศจะสูญเสียความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการพังทลายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมถึงมนุษย์ที่พึ่งพาทรัพยากรจากธรรมชาติ เช่น อาหาร น้ำ และอากาศบริสุทธิ์

นอกจากนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในด้านการแพทย์ การเกษตร และการท่องเที่ยว การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

Key Takaway

แนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นกรอบสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ และธุรกิจไม่สามารถละเลยได้ เพื่อให้โลกของเรายังมีที่ยืนสำหรับคนรุ่นถัดไป กรอบแนวคิดนี้ไม่เพียงช่วยให้องค์กรปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุก ๆ กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจขององค์กร อย่างไรก็ตามการพัฒนาและปรับใช้กรอบ ESG นี้ในแต่ละธุรกิจจะยังคงต้องใช้เวลาและมีความท้าทายในการปฏิบัติตามมาตรฐานที่สูงขึ้นในอนาคต

เกี่ยวกับ Optiwise

Optiwise ให้บริการที่ปรึกษาด้านนักลงทุนสัมพันธ์ บริการที่ปรึกษาด้าน ESG การออกแบบเว็บไซต์องค์กร (Corporate Website Design) และเว็บไซต์นักลงทุนสัมพันธ์ (IR Website) พร้อมให้คำปรึกษาในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) และจัดทำเอกสารสำคัญของบริษัทมหาชน รวมถึงงานประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัท

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการของ Optiwise ติดต่อเราได้ที่นี่